ผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน ต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน



ผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน ต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน

18  ม.ค. 2565
วันที่ 17 มกราคม 2565 ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าร่วมแถลงข่าว "ผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีน ต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน"
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 (Coronavirus  Disease  2019; COVID-19) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่า (Severe acute respiratory syndrome-related coronavirus-2; SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นเชื้ออุบัติใหม่และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันไวรัส SAR-CoV-2 มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมจนเกิดการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้มีข้อสงสัยว่าวัคซีนสลับและวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จะสามารถต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมากในประเทศแอฟริกา อเมริกา ยุโรปและประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยได้หรือไม่ ถึงแม้นจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน จะมีจำนวนไม่มากในประเทศ แต่เนื่องจากไวรัสมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดลต้าหลายเท่า จึงทำให้คาดการณ์ว่าอนาคตประเทศไทยอาจมีการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์เดลต้า
ปัจจุบันประเทศไทยได้เร่งฉีดวัคซีนสลับและวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับประชาชนเป็นหลัก  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับศิริราชพยาบาลจึงได้ทำการศึกษาในเบื้องต้นเพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด19 ต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีนสลับและวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ได้รับวัคซีน CoronaVac และตามด้วยวัคซีน AstraZeneca (SV-AZ) กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ) กลุ่มที่ 3 ได้รับวัคซีน Comirnaty 2 เข็ม (Pf-Pf) กลุ่มที่ 4 ได้รับวัคซีน CoronaVac และตามด้วยวัคซีน Comirnaty (SV-Pf) กลุ่มที่ 5 ได้รับวัคซีน AstraZeneca และตามด้วยวัคซีน Comirnaty (AZ-Pf) กลุ่มที่ 6 ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็มและกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีน AstraZeneca (SV-SV-AZ) กลุ่มที่ 7 ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็มและกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีน Comirnaty (SV-SV-Pf) และกลุ่มที่ 8 ได้รับวัคซีนกลุ่มที่ 2 กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีน Comirnaty (AZ-AZ-Pf) โดยการทดสอบจะใช้ไวรัสจริงสายพันธุ์โอมิครอน ที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อในประเทศ นำมาเพาะแยกเชื้อในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 และทดสอบโดยวิธีมาตรฐานคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) เพื่อหาค่าที่ไวรัสโอมิครอนถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน 
ผลการศึกษาใน 8 กลุ่ม อาสาสมัครกลุ่มละ 10 คน เปรียบเทียบผลการต่อต้านไวรัสเดลต้ากับไวรัสโอมิครอน ในกลุ่มที่ 1  SV+AZ  กลุ่มที่ 2  AZ+AZ กลุ่มที่ 3 Pf+Pf  กลุ่มที่ 4 SV+Pf  กลุ่มที่ 5 AZ-Pf กลุ่มที่ 6 SV-SV-AZ  กลุ่มที่ 7 SV-SV-Pf และกลุ่มที่ 8 AZ-AZ-Pf  พบว่าระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอน มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ดังแสดงในแผนภูมิ
    ผลการศึกษาการให้วัคซีน 2 เข็มในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน SV-AZ, AZ-AZ และ Pf-Pf หลังเข็ม 2 นาน 2 สัปดาห์ ยกเว้นกลุ่ม Pf-Pf นาน 3-4 สัปดาห์ พบว่าภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์สายพันธุ์โอมิครอนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ และเมื่อเทียบผลของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แบบสลับ พบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีน SV-SV-AZ, SV-SV-Pf และ AZ-AZ-Pf หลังเข็ม 3 นาน 2 สัปดาห์ ถึงแม้นว่าจะพบภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์สายพันธุ์โอมิครอนลดลงบ้างแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูง แสดงว่าการได้รับวัคซีน เข็ม 3 กลุ่ม SV-SV-Pf,  AZ-AZ-Pf และ SV-SV-AZ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ดี อย่างไรก็ตามวัคซีนทุกสูตรยังช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตของผู้ป่วยทุกสายพันธุ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะติดตามภูมิคุ้มกันหลังเข็ม 3 ต่อไปเนื่องจากยังมีความจำเป็นสำหรับเข็มกระตุ้น (booster dose) เพื่อสร้างความมั่นใจต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

สถาบันชีววัตถุ
                                                                                              กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
14 มกราคม 2565