ข่าวปลอม อย่าแชร์! ส่วนผสมในวัคซีนโควิด-19 อันตราย และไม่ปลอดภัย



ข่าวปลอม อย่าแชร์! ส่วนผสมในวัคซีนโควิด-19 อันตราย และไม่ปลอดภัย

4  ต.ค. 2564


ตามที่มีการส่งต่อข้อความในสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ส่วนผสมในวัคซีนโควิด-19 อันตราย และไม่ปลอดภัย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการส่งข้อความเกี่ยวกับส่วนผสมในวัคซีน 14 ชนิด ได้แก่ Formaldehyde, Betapropiolactone, Hexadecyltrimethylammonium bromide, อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ อลูมิเนียมฟอสเฟต และเกลืออลูมิเนียม, ไทเมอร์โรซอล, polysorbate 80, กลูตาราลดีไฮด์, Fetal Bovine Serum, Human Diploid Fibroblast Cells  , African Green Monkey Kidney Cells, อะซิโตน, E. Coli และ DNA จากหมู Circovirus type-1 ว่าไม่มีความปลอดภัย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

โดยทางสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนดังนี้ การผลิตวัคซีนโดยปกตินั้นมีกระบวนการศึกษา คัดเลือก และตรวจสอบความปลอดภัยของสารตั้งต้น ตัวเชื้อ และสารองค์ประกอบต่างๆ ที่นำมาใช้ในวัคซีนอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในมนุษย์เป็นลำดับขั้นตอน และก่อนจำหน่ายต้องผ่านการรับรองโดยหน่วยควบคุมกำกับในประเทศผู้ผลิต ผู้นำเข้า และในกรณีของวัคซีนโควิด-19 ยังผ่านการตรวจสอบรับรองโดยองค์การอนามัยโลกประกาศให้ใช้ในสถานการณ์การระบาด


ปัจจุบันที่ประกาศแล้ว ได้แก่ วัคซีนของบริษัทโมเดิริ์นนา ไฟเซอร์ ที่เป็นวัคซีนชนิดสารเอ็มอาร์เอ็นเอ, วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนกา บริษัท serum institute of India และจอนห์นสันแอนด์จอนห์สัน ซึ่งวัคซีนเป็นชนิดไวรัสเวคเตอร์, วัคซีนของบริษัทซิโนแวค และซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านการจดขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว และที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศอยู่ในขณะนี้ประกอบด้วยวัคซีนของแอสตร้าเซเนกา ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ ซึ่งสารต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างถึงในข้อความเกี่ยวกับปลอดภัยนั้น เป็นสารที่มีประวัติการใช้ในการผลิตวัคซีนสำหรับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ไม่ใช่สารใหม่ จึงผ่านการตรวจพิสูจน์ในความปลอดภัยทั้งในห้องทดลองและในสถานะการณ์ใช้จริงเป็นที่ยอมรับทั่วกันให้ใช้ได้โดยมีมาตรฐานกำกับ ซึ่งถ้าเป็นสารใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อนจะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดก่อนอนุญาตให้ใช้ จึงให้ความมั่นใจได้ว่าสารต่างๆที่เป็นองค์ประกอบในวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วนั้นมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการฉีดเข้ามนุษย์

สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนเชื้อจุลชีพต่างๆ เช่น E.coli ที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น ในกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อในหลายขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบ สารตั้งต้นจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากการปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ รา แบคทีเรีย ไวรัส ต่างๆ ในวัคซีน

อีกทั้งเรื่องDNA จากหมู ในกระบวนการผลิต trypsin ปัจจุบันที่พัฒนาขึ้นจะมีการตรวจสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนไวรัสดังกล่าว ซึ่งผู้ผลิตจะต้องควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ดังนั้นโอกาสที่จะปนเปื้อนจึงมีได้น้อยมาก และอาจใช้ trypsin ชนิดสังเคราะห์แทนได้