กรมวิทย์ฯ ให้บริการเชิงรุกพบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านชีววัตถุ เพื่อพัฒนาบริการตอบสนองไทยแลนด์ 4.0



กรมวิทย์ฯ ให้บริการเชิงรุกพบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านชีววัตถุ เพื่อพัฒนาบริการตอบสนองไทยแลนด์ 4.0

12  ธ.ค. 2560


              กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีนโยบายมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยจัดให้มีบริการเชิงรุก ระดมความเห็น ข้อเสนอแนะ ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการด้านชีววัตถุให้มีประสิทธิภาพ พร้อมบรรยายให้ความรู้ “อุตสาหกรรมยาชีววัตถุกับการพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0” แก่ผู้ประกอบการ

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องนำเข้ายาชีววัตถุปีละมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท แต่คนไทยสามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้เพียง 5,338 ราย และคาดว่ายังมีคนป่วยอีกกว่า 2 ล้านรายที่จำเป็นต้องได้รับยาดังกล่าว ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 โดยการส่งเสริมให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ไปสู่เป้าหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของนวัตกรรมกลุ่มสุขภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในปี พ.ศ.2568 ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเล็งเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยที่การทำงานแบบมีส่วนร่วมจะประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมากจากผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง รวมทั้งกระบวนการสร้างความร่วมมือที่ดี เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการอุตสาหกรรมยา ชีววัตถุที่มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และตอบสนองไทยแลนด์ 4.0 


          นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีบทบาทในการประกันคุณภาพและประเมินความเสี่ยงวัคซีน ผลิตภัณฑ์เลือดและชีววัตถุอื่นๆ ที่ใช้ในประเทศ ชุดตรวจวินิจฉัยโรคที่ใช้โดยตรงกับร่างกายมนุษย์ ชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อทางเลือดและวัคซีนสัตว์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านชีววัตถุ ผลิตสารมาตรฐานของประเทศสำหรับการควบคุมคุณภาพชีววัตถุ รวมถึงศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการด้านชีววัตถุ พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการและระบบควบคุมคุณภาพชีววัตถุ ตลอดจนสนับสนุนด้านวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน ผลิตภัณฑ์เลือดและชีววัตถุอื่นๆ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้เชิญผู้ประกอบการด้านชีววัตถุภายในประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สถานเสาวภา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จำนวนกว่า 100 คน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร และรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาองค์กร สอดคล้องตามหลักธรรมมาภิบาล สร้างคุณธรรมและความโปร่งใส ในการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากมีเป้าหมายการพัฒนาองค์กรแล้วยังได้มีการให้ความรู้เพื่อสร้างคุณค่าของการให้บริการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมตามระบบคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ