กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาวิธีตรวจสอบประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันวัณโรค รู้ผลภายใน 2 วัน แห่งแรกในเอเชีย



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาวิธีตรวจสอบประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันวัณโรค รู้ผลภายใน 2 วัน แห่งแรกในเอเชีย

14  พ.ย. 2560

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ความแรง เพื่อดูประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจี รู้ผลได้ภายในเวลา 2 วัน จากเดิมที่ใช้เวลาตรวจวิเคราะห์นานถึง 1 เดือน ถือเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกในเอเชียที่พัฒนาวิธีตรวจใหม่ เตรียมนำมาใช้ในการควบคุมคุณภาพวัคซีนบีซีจีที่ผลิตในประเทศ


นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในการตรวจความแรงเพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือวัคซีนบีซีจี นั้น วิธีมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือการนับจำนวนของเชื้อมีชีวิตในวัคซีนโดยตรง ซึ่งต้องเพาะเลี้ยงเชื้อบนอาหารที่มีความจำเพาะแตกต่างจากแบคทีเรียทั่วไป และเนื่องจากเชื้อมัยโครแบคทีเรีย เจริญเติบโตช้ามากในการบ่มเพาะเลี้ยงเชื้อ ทำให้การนับจำนวนเชื้อบนอาหารเลี้ยงเชื้อกินระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน นอกจากนี้กรรมวิธีในการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อและการทดสอบมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้หลอดทดลองจำนวนมาก สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้พยายามศึกษาและพัฒนาวิธีทางเลือกใหม่ของการตรวจความแรงของวัคซีนบีซีจี คือการตรวจวัดระดับพลังงาน ATP โดยวิธี Intracellular ATP Assay ซึ่งวัด ATP ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั่วไปโดยอาศัยหลักการที่ว่าเชื้อแบคทีเรียที่มีชีวิตจะมีการผลิตพลังงาน ATP ออกมาโดยมีปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณของเชื้อที่มีชีวิต ทำให้สามารถตรวจหาระดับความแรงหรือปริมาณของเชื้อในวัคซีนจากปริมาณ ATP ได้ 


อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า วิธีนี้มีข้อดีหลายอย่าง เช่น รู้ผลได้ภายในเวลา 2 วัน เป็นวิธีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ราคาค่าตรวจวิเคราะห์ไม่แตกต่างจากวิธีเดิม เนื่องจากน้ำยาสกัดสามารถเตรียมเองในห้องปฏิบัติการโดยมีผลการทดสอบไม่แตกต่างจากน้ำยาสกัดจากบริษัททำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ เป็นต้น ปัจจุบันวิธีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการทดสอบความถูกต้องของวิธีตามมาตรฐานสากลแล้วสามารถนำมาใช้เป็นวิธีมาตรฐานได้ และเพื่อยืนยันว่าวิธีมาตรฐานนี้สามารถนำมาใช้ได้กับตัวอย่างจริง สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ทดสอบกับตัวอย่างวัคซีนที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 20 รุ่นการผลิต โดยเทียบผลระหว่างวิธีเก่าและวิธีใหม่ ผลการทดสอบให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันโดยมีวัคซีนมาตรฐานสากลเป็นตัวควบคุมการทดสอบ ดังนั้น คาดว่าในปีหน้า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะนำวิธีใหม่นี้มาใช้ในการควบคุมรุ่นการผลิตวัคซีนบีซีจีที่ผลิตในประเทศ โดยจะกำหนดเกณฑ์การยอมรับสำหรับการตรวจความแรงด้วยวิธีใหม่ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแผนที่จะถ่ายทอดเทคนิคการตรวจให้กับผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งจะทำให้ลดระยะเวลาการตรวจวิเคราะห์ลงได้อย่างมาก ช่วยให้สามารถปล่อยผ่านวัคซีนไปสู่ท้องตลาดได้เร็วขึ้น  


“นอกจากจะได้ประโยชน์ในการลดระยะเวลาการตรวจแล้ว ยังเป็นการแสดงศักยภาพของห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศไทย ที่สามารถพัฒนาวิธีการตรวจความแรงวัคซีนบีซีจี เป็นแห่งแรกในประเทศแถบเอเชียอีกด้วย” นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย