กรมวิทย์ฯ เผยไทยยังไม่มี "ห้องแล็บ" ตรวจเซลล์เพาะเลี้ยง เตรียมพัฒนา "เทคนิคตรวจวิเคราะห์"



กรมวิทย์ฯ เผยไทยยังไม่มี "ห้องแล็บ" ตรวจเซลล์เพาะเลี้ยง เตรียมพัฒนา "เทคนิคตรวจวิเคราะห์"

5  ต.ค. 2560

ทีมข่าวเว็บไซต์  Medhub news.com  รายงานว่า นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันวัคซีนที่ผลิตด้วยเซลล์เพาะเลี้ยงมีหลายชนิด

เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่ วัคซีนป้องกันโรคซิก้า และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น แต่บ้านเรายังไม่มีห้องแล็บที่ตรวจคุณลักษณะของเซลล์ได้ตามมาตรฐาน



ดังนั้น ทำให้ผู้ผลิตและนักวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศต้องส่งเซลล์เพาะเลี้ยงไปทดสอบคุณลักษณะในต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านบาท เพื่อยืนยันว่าเซลล์เพาะเลี้ยงนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดมะเร็งเมื่อใช้ผลิตวัคซีน



ในการนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววัตถุ ในฐานะห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศ จึงวางแผนพัฒนาการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์เพาะเลี้ยง Vero ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้มาจาก "ไตของลิงแอฟริกา"

โดยในประเทศทั่วโลก รวมถึง "องค์การอนามัยโลก" ให้การยอมรับนำมาใช้ผลิตวัคซีน และเป็นที่นิยมใช้ในการผลิตวัคซีนอย่างมาก แต่ต้องมีการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์ก่อนนำมาใช้ในการผลิต

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการเจรจาความร่วมมือกับ ผู้ผลิตวัคซีนในประเทศจีน เพื่อพัฒนา บุคลากรในด้านเทคนิคการตรวจวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์ Vero โดยทางผู้ผลิตยินดีให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของกรมฯ

จากการเจรจาทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนา การผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีน โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณลักษณะและคุณภาพของเซลล์เพาะเลี้ยงที่ใช้ผลิตวัคซีนจะต้องได้รับการตรวจสอบ และยอมรับจากหน่วยควบคุมกำกับภาครัฐด้านวัคซีนของประเทศจีน

ก่อนที่ผู้ผลิตจะนำเซลล์มาใช้ในการผลิตวัคซีนได้ ถือเป็นกฎข้อบังคับที่ผู้ผลิตต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด



นอกจากนี้ได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ผลิตตรวจสอบคุณภาพของ บริษัท Lioning Chengda Biotechnology Co.Ltd., Shenyang ( เหลียวหนิง เชียงดาไบโอเทคโนโลยี จำกัด เมืองเสิ่นหยาง ) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนขนาดใหญ่และมีความทันสมัยของประเทศจีน ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง Vero

และมีผลิตภัณฑ์ที่นำมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ชนิดเชื้อตาย นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่อยู่ในแผนพัฒนาวิจัยการผลิตของบริษัททั้งวัคซีนแบคทีเรียและไวรัสอีกหลายชนิด

“ประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเจรจาครั้งนี้คือ นอกจากองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ในการพัฒนางานด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศไทยแล้ว การที่ประเทศจีนให้ความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์ Vero

จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเซลล์เพาะเลี้ยงของสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งเซลล์ไปตรวจในต่างประเทศ

เป็นการพึ่งพาตนเองในประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนรวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0” นายแพทย์สุขุม กล่าว