กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หนุนตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา สภากาชาดไทย



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หนุนตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา สภากาชาดไทย

21  ส.ค. 2560

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา สภากาชาดไทย โดยเป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้ด้านการควบคุมคุณภาพแก่บุคลากรผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ไทยมีสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาที่มีมาตรฐานระดับสากล มีกำลังการผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดภาวะค่าใช้จ่ายและลดการพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศ



นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำความตกลงการร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์ผลิตภัณฑ์จากพลาสมา สภากาชาดไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา สภากาชาดไทย โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยมีสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาที่มีมาตรฐานระดับสากลใช้ภายในประเทศ มีกำลังการผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดภาวะค่าใช้จ่ายและลดการพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศ








อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า พลาสมาหรือน้ำเหลือง มีโปรตีนอยู่หลายชนิดซึ่งเป็นภูมิต้านทานต่อโรคติดต่อและเชื้อโรค จึงถูกนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ในการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาจะมีความแปรปรวนสูงอันเนื่องมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมาจากสิ่งมีชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างดี โดยผู้ผลิตต้องแสดงข้อมูลในการขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อนจำหน่าย เพื่อเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล  

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววัตถุ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในกระบวนการขออนุญาตขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่าย และให้การรับรองรุ่นการผลิตก่อนออกจำหน่าย ได้ให้การสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาตามข้อตกลงความร่วมมือฯ โดยเป็นที่ปรึกษารวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการควบคุมคุณภาพแก่บุคลากรผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้สามารถนำไปประยุกต์ใช้และดำเนินการผลิตได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการให้ความรู้เรื่อง “การตรวจสอบความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุ” เพื่อให้ความเข้าใจถึงหลักการและรายละเอียดวิธีการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งให้คำปรึกษาและร่วมแก้ไขปรับปรุงข้อมูลการตรวจสอบความถูกต้องของวิธีที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถจัดเตรียมเอกสารขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ด้านคุณภาพของอิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin 5 TRCS) ซึ่งใช้สำหรับการรักษาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเกล็ดเลือดต่ำ และแฟคเตอร์ 8 (Factor VIII TRCS) สำหรับรักษาโรคเลือดไหลไม่หยุดชนิด เอ ได้สำเร็จลุล่วง” นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย